ชมรมอาสาเพื่อในหลวง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. 2549 กับ 1 สิ่งที่เคยทำไว้ เพื่อแผ่นดินของในหลวง
Msu digest : ค่ายอาสารักบ้านเกิด เศรษฐกิจพอเพียง เรียนรู้วิถีชีวิตเรียบง่าย จับจอบเขียนกระดานดำ..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/54906 ในความยุ่งเหยิง วุ่นวายในแต่ละวัน หากมีช่วงเวลาหนึ่ง ได้กลับไปสู่ความเป็นตัวของตัวเอง ได้สัมผัสวิถีชีวิตที่เรียบง่ายเหมือนกลุ่มคนรุ่นใหม่บ้าง..
ช่วงชีวิตที่เป็นนิสิตนักศึกษา วัยแห่งการแสวงหา เป็นช่วงเวลาที่หลายคนได้ทำในสิ่งที่อยากทำ
แต่ในช่วงที่ทำงาน มีรายได้เป็นของตัวเอง จะทำอะไรก็ได้ กลับไม่สามารถทำสิ่งที่อยากทำได้ เหมือนช่วงนิสิตนักศึกษา
วันที่ ๒๔ ถึง ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ นิสิต มมส กลุ่มหนึ่งได้จัด ค่ายอาสารักบ้านเกิด เป้าหมาย เพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น และได้ดำเนินตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ฝึกใช้ชีวิตที่เรียบง่าย
ต้องยอมรับว่า ความคิดของกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีความคิดที่ดีๆหลายอย่าง หลายคนที่มีประสบการณ์ทำงานมากขึ้น มีความรู้สูงขึ้น หลายครั้ง กลับคิดเรื่องหลายเรื่องไม่ออก ในขณะที่คนรุ่นใหม่คิดไม่นาน กลับหาทางออกของปัญหาได้อย่างลงตัว
ทั้งๆที่พวกเขาอายุน้อยกว่าท่าน กำลังขวนขวายหาความรู้ตามหลังหลายท่านอยู่
พลังของคนรุ่นใหม่ มีหลายอย่างที่มีคุณค่าต่อสังคม
ถ้าหลายท่านจะทำกิจกรรมอย่างที่นิสิตจัดค่ายอาสารักบ้านเกิด คงจะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากทีเดียว ต่างคนต่างมีเงื่อนไข ข้อจำกัดที่ต่างคนต่างสร้างขึ้นมาเป็นกรอบครอบตัวของคุณเองทั้งนั้น
ถึงแม้ว่าจะทำอย่างคนรุ่นใหม่ไม่ได้ แต่การที่ได้ติดตามเส้นทางการเดินทางไปตามความฝัน สู่เป้าหมายที่ตั้งใจ ในแบบง่ายๆ ตรงไปตรงมา น่าจะให้แง่คิดหลายอย่างกับชีวิตได้บ้าง
สำหรับคนทำงานแล้ว อย่างน้อย เมื่อนึกถึงอดีต ในช่วงวันเวลาที่อยู่ในวัยเดียวกับพวกเขาเหล่านั้น อย่างน้อยก็ย่อมจะทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่าขึ้นมาได้บ้าง
หลายคนทำงานหนัก คิดหลายชั้น คิดอย่างซับซ้อนจนลืมการลงมือทำในสิ่งที่ง่ายๆตรงไปตรงมา
ในความยุ่งเหยิง วุ่นวายในแต่ละวัน หากมีช่วงเวลาหนึ่ง ได้กลับไปสู่ความเป็นตัวของตัวเอง ได้สัมผัสวิถีชีวิตที่เรียบง่ายเหมือนกลุ่มคนรุ่นใหม่ในค่ายอาสารักบ้านเกิดบ้าง..
อาจจะไม่ต้องไปร่วมออกค่ายอาสากับกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่แนวคิดที่ได้รับ น่าจะหยิบกลับมาถามตัวเองบ้างว่า วันนี้ เราห่างไกลจากสิ่งต่างๆที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะไปออกค่ายอาสานี้ไปนานแค่ไหนแล้ว
ข้อมูลคร่าวๆ.... * * * * *
ชื่อโครงการ "เข้าค่ายอาสารักบ้านเกิด เศรษฐกิจพอเพียง เรียนรู้วิถีชีวิตที่เรียบง่าย จับจอบเขียนกระดานดำ"
ลักษณะของการปฏิบัติงาน
เป็นการทำงานร่วมกับชุมชน โดยเป็นชุมชนของนิสิตเอง ซึ่งนิสิตมีความสนิทสนมกับคนในชุมชนอยู่แล้ว และวันเวลาที่จัดกิจกรรมคือ ในช่วงปิดภาคเรียนหลังสอบปลายภาค คือวันที่ 24 -28 ตุลาคม การเดินทางคือจะเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง วันแรกเป็นกิจกรรมบายศรีสู่ขวัญรับขวัญนิสิต ส่วนในตอนเย็นของทุกวันเป็นกิจกรรมเกษตร ปลูกผัก หาปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา บางวันก็ออกศึกษาดูพื้นที่ของเกษตรกร วันที่สองเป็นการรับฟังคำบรรยายเรื่องเกษตรทฤษฏีใหม่จากเกษตรอำเภอ และเป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างปราชญ์ชาวบ้านกับนิสิต ฟังคำบรรยายจากเกษตรกรตัวอย่างในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง เช่น ผญา สรภัญญะ และการลำปอบผีฟ้า วันที่สามเป็นกิจกรรมดูแลรักษาป่าเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นกิจกรรมเต็มวัน วันที่สี่เป็นกิจกรรมสอนเด็กนักเรียน ซึ่งเป็นเด็กในท้องถิ่น ในระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ที่โรงเรียนบ้านหนองตานา ตอนบ่ายเป็นกิจกรรม walk rally ของเด็กในท้องถิ่น ซึ่งจะมอบหมายให้นิสิตเป็นผู้ดูแล วันที่ห้าเป็นกิจกรรมเกษตร ออกศึกษาพื้นที่แปลงเพาะปลูกของเกษตรกร และเป็นพิธีปิด
ระยะเวลาการปฏิบัติงาน
๕ วัน ๔ คืน คือวันที่ ๒๔ ตุลาคม ถึง วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๙
สถานที่ปฏิบัติงาน
บ้านหนองตานา ต.โสกปลาดุก อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ
จำนวนผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ....... คน
อาจารย์ที่ปรึกษา ............ คน
นิสิต 15 คน
นักเรียนจากโรงเรียนบ้านหนองตานา จำนวน 100 คน
ชาวบ้านบ้านหนองตานา 50 คน
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
นิสิตได้รับการปลูกฝังให้มีใจรักชุมชน ภูมิใจที่ได้เป็นอยู่อย่างพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวง นิสิตได้ทำงานเพื่อชุมชน และนิสิตเกิดความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมโครงการในครั้งนี้
..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/54906
Msu digest : มองวิธีคิดจากค่ายอาสารักบ้านเกิด เศรษฐกิจพอเพียงของนิสิต มมส. การนำเสนอข้อมูลบนความขัดแย้งที่ลงตัว..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/54914
มองคนรุ่นใหม่ แล้วมองตัวเอง
การจัดโครงการเข้าค่ายอาสารักบ้านเกิด เศรษฐกิจพอเพียง เรียนรู้วิถีชีวิตที่เรียบง่าย จับจอบเขียนกระดานดำ วันที่ ๒๔ ถึง ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่ บ้านหนองตานา ต.โสกปลาดุก อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ นั้น
ความจริงแล้ว เป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งของคนรุ่นใหม่เท่านั้น เหมือนกับอีกหลายโครงการที่เกิดขึ้นในช่วงปิดเทอมของนิสิต มมส.
แต่การมองวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ จะได้แง่คิดดีๆกลับมาเช่นกัน แม้จะเป็นโครงการเล็กๆ กลุ่มเป้าหมายเล็กๆ วัตถุประสงค์และรูปแบบในแบบสามัญธรรมดา มองผ่านๆแล้ว ไม่น่าสนใจ
แต่เป็นการนำเสนอข้อมูลที่ขัดแย้งกันอย่างลงตัว
1. ค่ายนี้เป็นค่ายอาสารักบ้านเกิด เศรษฐกิจพอเพียง เรียนรู้วิถีชีวิตที่เรียบง่าย ในหลักการเขียนไว้ว่า เนื่องจากวัฒนธรรมตะวันตกที่แพร่หลาย จนวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยกำลังจะหมดไป นิสิตลุ่มหลงและใช้เงินฟุ่มเฟือยตามกระแส ถ้างั้นหวนกลับสู่ความพอเพียงกันเถอะ
2. เป้าหมายเพื่อกลับไปสู่ความพอเพียง วิถีชีวิตที่เรียบง่าย กับการแจ้งข่าวสารกับกลุ่มคนที่อยู่ในกระแสตะวันตก วิธีคิดก็ต้องใช้ช่องทางเผยแพร่แบบกระแสตะวันตก ประชาสัมพันธ์ทั้งการติดป้ายประกาศ และทำเวบไซต์ http://www.geocities.com/zey_high/index2.htm แจ้งข่าวในเวบไซต์ มมส. เปิดกระดานข่าว สร้างเครือข่ายขึ้นมา
เป็นวิธีคิดในการเข้าถึงข้อมูลสู่กลุ่มเป้าหมายที่จะต้องค้นคว้า หาคนที่อยากทำงานเพื่อสังคมให้ได้ แม้จะเป็นโครงการเล็กๆ แต่รูปแบบการบริหารจัดการ การประชาสัมพันธ์ทำได้ครอบคลุมทีเดียว
ในขณะที่การทำโครงการของผู้ใหญ่หลายคน ไม่ครอบคลุม รอบด้านถึงเพียงนี้ หลายโครงการ ใช้งบประมาณมากกว่า แต่การประชาสัมพันธ์ไม่ครอบคลุม ไม่ทั่วถึง ข้อมูลในเวบไซต์ไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจ บางโครงการมีแต่ประกาศ และทิ้งที่อยู่เบอร์โทรให้ติดต่อสอบถามเท่านั้น เมื่อสอบถามกลับไปแล้ว ติดต่อไม่ได้ ไม่มีคนตอบ
แต่ถ้าคิดแบบเรียบง่าย เปิดกระดานข่าวไว้ ฝากข้อความ ให้รู้ว่า มีคนสนใจ เข้ามาดูติดตามความเคลื่อนไหวอยู่เรื่อยๆ
สำหรับโครงการใหญ่ๆของหน่วยงานต่างๆ อาจเป็นเพราะติดอยู่กับกรอบ ติดอยู่กับระเบียบขั้นตอนต่างๆ ทำให้วิธีคิดง่ายๆ ทำยาก.....
และนี่ก็คือ บันทึกสะเก็ด มมส. แบบง่ายๆ กับการรับรู้ถึงข่าวสารกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ ที่เข้าตานายบอนแล้วหยิบยกมาเขียนบันทึกไว้ทันที
http://www.geocities.com/zey_high/index2.htm
..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/54914
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆอีกมากมายเช่น
1. คือช่วยเหลือน้ำท่วมโคลนถล่มที่อ.ลับแล จ.อุตรดิต ปี 2549
2. คือค่ายอาสารักบ้านเกิด จับจอบเขียนกระดานดำ ที่บ้านหนองตานา จ.ชัยภูมิเมื่อ เดือนตุลาคม 2549ได้เชิญเกษตรอำเภอมาให้ความรู้แก่ชาวบ้าน เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการพาสมาชิกเข้าไปอยู่กับชาวบ้านและเรียนรู้วิธีการทำการเกษตรจริงๆ รวมถึงการฟื้นฟูป่าเฉลิมพระเกียรติ ที่วัดหนองตานา ซึ่งเป็นป่าที่ปลูกขึ้นใหม่ แต่ไม่ได้รับการดูแล รวมทั้งการขอแรงชาวบ้าน เข้าไป ถางหญ้า รดน้ำ บำรุงดิน จนป่าขึ้นเป็นป่าถาวร และผ่านมากว่า 10 ปีแล้ว
3. ค่ายกิจกรรมเด็ก และมอบอุปกรณ์การกีฬาโรงเรียนบ้านดอนนา จ.มหาสารคาม
ซึ่ง งบประมาณมาจากการจัดสรรเอง โดยไม่ได้เบิกจากงบของมหาลัยแม้แต่บาทเดียว เพราะยุ่งยากซับซ้อน
รวมถึงการไปร่วมกิจกรรมกับชมรมอื่น เช่นกิจกรรมเกี่ยวข้าว บ้านดอนนา
ในกิจกรรม "มหกรรมคนอาสา" (เกี่ยวข้าวใหม่ กินปลามัน ปั้นข้าวจ้ำ ร่วมทำบุญ) ที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นาน แต่ก็กำลังจะเริ่มต้นมหกรรมรอบใหม่ในอีกไม่ช้า !
พวกเขาเรียกตนเองว่า "นิสิตบ้า" เพราะหลายคนโดดเรียนไปลงแขกเกี่ยวข้าวช่วยชาวบ้าน และขอรับบริจาคข้าวเปลือกไปช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัย "น้ำท่วม โคลนถล่ม" ที่ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์
แต่โดยส่วนตัวแล้วผมแซวด้วยความรักใคร่ว่าพวกเขาไม่ได้บ้า ! แต่เป็นพวก "นิสิตกบฎ" ! เหตุที่เรียกเช่นนี้เพราะแกนนำที่ขับเคลื่อนล้วนเป็นผู้นำองค์กรนิสิตทั้งนั้น แต่ไม่ยัก "ขออนุมัติกิจกรรม" ตามระเบียบมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็น ชมรมคนสร้างฝัน ชมรมครูอาสา ชมรมวรรณศิลป์ ชมรมอาสาเพื่อในหลวง หรือแม้แต่กลุ่มพลังเสรี
ไม่แต่เฉพาะองค์กรนิสิตใน มมส เท่านั้น แต่ยังมีพันธมิตรอีกไม่น้อยร่วมอุดมการณ์สานฝันด้วยกัน อาทิ นักศึกษาจาก ม.อุบลราชธานี โรงเรียนพลาญชัยพิทยาคม เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน หรือแม้แต่มูลนิธิกองทุนไทย ซึ่งร่วมใช้พื้นที่เล็ก ๆ ใน มหาวิทยาลัยฯ เป็นพื้นที่ "ระดมพลคนอาสา" สืบมาตั้งแต่ ๑๖ พ.ย. ที่ผ่านมา
ผมติดตามกระบวนขับเคลื่อนของพวกเขามาโดยตลอด เมื่อสบโอกาสทั้งในระบบและริมทางเท้า เราก็มักพูดคุย ไต่ถามและให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง
ผมให้ความสำคัญกับ "เนื้องาน" อันเป็น "น้ำใสใจจริง" ของพวกเขา มากกว่าการ "ติดยึด" กับระบบ แต่ก็ไม่วายที่จะชักชวนพลพรรคอาสาเหล่านี้นำกิจกรรมดี ๆ เข้าสู่ระบบในมหาวิทยาลัย หรือไม่มหาวิทยาลัยก็ควรกระโจน "ลงแรง" ช่วยเหลือ สนับสนุนพวกเขาซะเลย เพราะยังไงเสีย กิจกรรมนี้ คือ กิจกรรมที่ให้ได้มากกว่า "ลุยขี้ตม เกี่ยวข้าวแบบทนแดด ทนฝน ทนลมหนาว กินข้าวกลางลานดิน" แต่มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ในเชิง "วัฒนธรรมของชาวนา" และการทำนาไม่ใช่อาชีพ แต่มันเป็นวัฒนธรรมของชาวนา ที่สำคัญอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะ "วิถีวัฒนธรรมแรงงานอาสา" หรือที่เราเรียกกันอย่างคุ้นหู (แต่ไม่คุ้นตาให้พบเห็นบ่อยนักในวิถีชาวนาในปัจจุบัน) ว่า "ลงแขกเกี่ยวข้าว"
แน่นอนที่สุด, จุดประสงค์หลักก็คือการอาสาไปช่วยลงแขกเกี่ยวข้าวในหมู่บ้านเพื่อรับบริจาค "ข้าวเปลือก" ไปช่วยชาวบ้านผู้ประสบภัยฯ ใน จ.อุตรดิตถ์ ที่ซึ่งครั้งหนึ่งนิสิตเหล่านี้เคยสัญจรลงพื้นที่ไปช่วยเหลือเกื้อกูลในนาม "อาสาสมัคร" มาแล้วครั้งหนึ่ง จนเกิดแรงบันดาลใจที่จะกลับมาขอรับบริจาคข้าวเปลือกไปให้ชาวบ้านได้ "บริโภค" และจัดเก็บเป็น "พันธุ์ข้าว" เพาะปลูก และหว่านฝัน ต่อลมหายใจให้ชีวิตในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง ...
แต่สำหรับผมแล้ว ผมเห็น (๑) แรงใจและจิตสำนึกอันดีงามของคนหนุ่มสาวที่มีต่อคนไทยที่ตกอยู่กับชะตากรรมความลำเค็ญจากภัยธรรมชาติ (๒) เห็นการทำงานในระบบเครือข่ายพันธมิตรทั้งในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัย ทั้งในภาครัฐและเอกชน (๓) เห็นการสัมผัสและเรียนรู้วิถีชาวนากลางทุ่งข้าว ทั้งการเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงการกินอยู่แบบเรียบง่ายกลางสายลมหนาว (๔) การแลกเปลี่ยนแนวคิดและพลวัตรการทำนาของคนอีสานผ่านเวทีชาวบ้านท่ามกลางบรรยากาศค่ำคืนที่ท้องฟ้าประดับด้วยดาวหลากดวง หรือแม้แต่กลางทุ่งข้าวที่ลมหนาวยังพัดวู่ไหว (๕) เห็นน้ำใจและความอารีของชาวบ้านที่มีต่อชาวบ้านด้วยกันอย่างอบอุ่น (๖) เห็นปราชญ์ชาวบ้านที่ยังทำหน้าที่มรดกทางสังคมอย่างไม่ลดละ ...ฯลฯ
วันเวลาล่วงถึงวันนี้ , ข้าวเปลือกกองใหญ่กองรวมกันที่วัดบ้านดอนนา (จ.มหาสารคาม) และยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ขนย้ายมาจากพื้นที่ ต.ดงลาน อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งคาดว่าจะได้ข้าวเปลือกจาก "ศรัทธา" ที่ร่วมกันลงแขกเกี่ยวข้าวไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ กระสอบ
บัดนี้ "เกี่ยวข้าวใหม่ กินปลามัน ปั้นข้าวจ้ำ" ได้ยุติลงแล้ว คงเหลือแต่เฉพาะ "ร่วมทำบุญข้าว" (สู่ขวัญข้าว) ในห้วงเดือนมกราคมอันเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของชาวนาที่ตระหนักในบุญคุณของ "ข้าว" ที่นิสิตย้ำเน้นว่าให้ความสำคัญกับพิธีกรรมนี้มาก และต้องประกอบพิธีตามวิถีชาวนาเสียก่อน จึงจะขนย้ายและส่งมอบไปยังพี่น้องชาวอุตรดิตถ์
แต่ในแววตาที่ฉายฉานอยู่นั้น ผมรู้ว่ามีความเหนื่อยล้าซ่อนแฝงอยู่อย่างลึกเร้น โดยเฉพาะปัญหาหลักที่โหมกระหน่ำเข้ามายิ่งกว่าลมหนาวที่หนาวเหน็บและเย็นยะเยือก
ปัญหานั้นก็คือ "งบประมาณ" สนับสนุนการจัดกิจกรรมของนิสิตที่มีอยู่อย่างน้อยนิดและไม่เพียงพอต่อการ "ขนย้าย" ข้าวเปลือกจาก จ.ร้อยเอ็ด มายัง จ.มหาสารคาม และถ่ายโยงไปสู่ จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งหากล่าช้าไปกว่านี้สภาวะความชื้นของหมอกหนาว อาจทำให้ข้าวเปลือกชื้นแฉะ ไม่สามารถใช้ประโยชน์อันใดได้อย่างเต็มที่...
ผมเข้าใจและเห็นใจอย่างลึกซึ้งต่อ "มหกรรมคนอาสา" ที่ (หนีเรียน) หลบเร้นไปจากห้องเรียนมหา'ลัย ไปสู่ "ห้องเรียนชีวิต" กลางทุ่งข้าว และอดสะท้อนใจไม่หายกับชะตากรรมที่พวกเขากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเรื่องงบประมาณ ...!
"นิสิตบ้า" หรือ "นิสิตกบฎ" ย้ำกับผมอย่างแผ่วเบา แต่หนักแน่นว่า การพบปะกันในวันนี้ มิใช่การบอกกล่าวเล่าความเหมือนครั้งที่ผ่านมา หากแต่มาร้องขอความช่วยเหลือในการขับเคลื่อนใน "โค้งสุดท้าย"
ก่อนลาจาก ....ผมหยิบยกเอาถ้อยคำของท่านผู้หนึ่งที่เพิ่งผ่านเข้ามาในชีวิตผมเมื่อไม่นานบอกกล่าวกับเขาว่า "ความจริงสวยงามเสมอ" พร้อมให้สัญญากับเขาว่า "พันธกิจ" ของผู้คนในมหกรรมคนอาสา จะต้องเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างแน่นอน ... เพราะคนทำดี ไม่สมควรถูกปล่อยเคว้งและเดินทางอย่าง "เดียวดาย"
เรี่ยวแรงและหยาดเหงื่อการเก็บเกี่ยวของ "คนอาสา" และ "ชาวนา" จากที่ราบสูงในวิถี "ลงแขก" จักต้องไม่สูญเปล่า ..
ที่สำคัญผมและนิสิตกบฎท่านนี้ยังวาดหวังว่า ปีหน้าฟ้าใหม่เราจะขับเคลื่อนกองทุนข้าว (ธนาคารข้าว) ขึ้นที่ชุมชนใกล้ ๆ มหาวิทยาลัย ให้ชาวบ้านได้เป็นส่วนหนึ่งของการเก็บเกี่ยว , ก่อตั้งกองทุนข้าว และร่วมใช้ประโยชน์ร่วมกันเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา (เมื่อนานมาแล้ว)
แต่ตอนนี้และขณะนี้ เราต่างก็บอกกับตนเองว่า "มหกรรมคนอาสา" บทใหม่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ....และเราก็พร้อมแล้ว... จาก https://www.gotoknow.org/posts/69325