วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

"ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” - "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

 “กัลยาณการี กัลยาณัง ปาปการี จ ปาปกัง - ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”

“อัตตาหิ อัตโนนาโถ - ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”




การทำดีได้ดี นั้นมีแน่ และสอดคล้องกับตนเป็นที่พึ่งแห่งตน คือ การทำบุญคือสิ่งที่เราต้องทำเอง บุญคือ ทาน ศีล ภาวนา สิ่งที่ได้มีตั้งแต่ระดับปานกลาง คือถึงมนุษย์ภูมิ สวรรค์ภูมิ แต่ถ้าทำถึงที่สุดได้ ก็คือพระนิพพาน
เวลาที่เราถือศีล เราก็ถือเอง เวลาที่เราทำสมาธิ วิปัสสนา เราก็เป็นคนทำเอง ไม่มีใครมาทำให้เรา ไม่มีใครมาทำบุญให้เราไปพระนิพพานได้ เราอยากได้เราก็ต้องทำเอง คืออัตตาหิ อัตโนนาโถ
การทำดีได้ดี ไม่ได้หวังแค่ว่า จะหวังดีแค่ชาตินี้ แต่ต้องหมายเอาถึงภพหน้า ดีที่สุดคือพระนิพพาน คือการไม่กลับมาสู่โลกีย์วิสัยอีก สู่โลกุตตระ ไม่กลับมาเกิดในโลกมนุษย์อีก เพราะการเกิดเป็นทุกข์ การแก่เป็นทุกข์ การเจ็บเป็นทุกข์ การโศกเศร้าเสียใจสูญเสียของรักของชอบใจเป็นทุกข์ เมื่อเกิดมาก็ต้องตายอีก แล้วเราจะเกิดตายเกิดตายไปอีกกี่ชาติ
ที่สุดแห่งดีคือพระนิพพาน คือผู้ที่พ้นทุกข์ ปราศจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอวิชชา บรรลุอรหัตตผล เมื่อบรรลุอรหัตตผล จะพ้นทุกข์ทันทีในชาตินี้ เพราะไม่มีความทุกข์ใดๆ อีกแล้ว เพราะผู้ที่บรรลุอรหัตตผล จะวางใจเป็นกลางไม่สุขไม่ทุกข์ วางใจเป็นอุเบกขา จิตใจและอารมณ์ก็ไม่แกว่งไม่หวั่นไหวไปตามสิ่งต่างๆ อารมณ์ต่างไม่กระทบ เป็นอุเบกขาอย่างเดียว ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย หมดการปรุงแต่ง สลัดทิ้งซึ่งเจตสิกฝ่ายต่ำ ไม่มีอำนาจกลับมาปรุงแต่งจิตอีกแล้ว จิตใจสว่างสุกใส พอตายจากชาตินี้มีนิพพานเป็นที่ไป ที่เดียว
แล้วทางใดที่จะไปถึงความดีนั้นได้ เริ่มจากสิ่งง่ายๆ ได้แก่ทาน ศีล เมื่อทานและศีล บริบูรณ์แล้ว ไม่มีความตะหนี่ ก็ไม่โลภ ลดอัตตาตัวตน ต่อมีก็ต้องมีสติ เพื่อคอยประคองรักษาศีล และมีสติเพื่อเจริญสติปัฏฐาน 4 แล้วมาทำสมาธิ เจริญสมถะกรรมฐาน หายใจเข้า - รู้ หายใจออก - วาง อาณาปานสติ จะเอาคำบริกรรมมาช่วยก็ได้ เมื่อใด ที่จิตหลงหนีไปคิดรู้ทัน จิตหนีไปคิดรู้ทัน เจ็บเมื่อยก็รู้ทัน ว่าเมื่อย กินยืนนั่งนอน ก็รู้อยู่ว่า กินยืนนั่งนอน ต่อมาก็ ปริยัติ ก่อนค่อยไปเจริญปัญญา ปริยัติก็คือการฟังธรรมตามกาล ถ้าบุคคลไม่เรียนรู้ธรรมะ ศึกษาธรรมะเลย จะขาดปัญญา และกิเลสบางตัวยังหนาอยู่ยังไม่เบาบาง ต้องอาศัยการศึกษาพระธรรมวินัย พระสูตร พระอภิธรรม พุทธประวัติ รวมถึงธรรมะจากคูบาอาจารย์ ให้เข้าใจวิธีการปฏิบัติ และผลของการปฏิบัติ รวมถึงข้อธรรมที่สอดคล้องมีเหตุมีผลเป็นเหตุเป็นผล ที่เราฟังแล้วสามารถนำไปปฏิบัติ และนำไปพิจารณาให้สอดคล้องกับแนวทางของคูบาอาจารย์ การศึกษาธรรมะจะได้สัมมาทิฐิ เป็นข้อแรกของมรรค 8 เพื่อสั่งสมศรัทธา และปัญญา เมื่อมีความเห็นตรง รู้จุดและแนวทางในการภาวนาแล้ว ก็ดำเนินการปฏิบัติในการเจริญปัญญาด้วยการพิจารณา กาย พิจารณาจิต รวมๆแล้วพิจารณาธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมถึง การรับรู้ จากอายตนะ 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ /รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ มองให้เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนบังคับไม่ได้ เมื่อใดที่สามารถวางเฉยต่อรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ได้ แสดงว่าจิตใจเริ่มมีกำลัง กิเลสเริ่มเบาบางแล้ว เพราะถ้าพิจารณาเห็นรูปผู้หญิง ผู้ชาย เป็นอสุภะ คือความไม่สวยไม่งามได้ ราคะก็จะเริ่มคลายจางลง พิจารณาธรรมทั้งปวง ให้เห็นธรรมในธรรม มองเห็นว่าธรรมต่างๆเป็นทุกข์ ธรรมต่างๆเป็นของไม่เที่ยง ธรรมต่างๆเป็นของไม่มีตัวตน ให้เบื่อหน่ายในขันธ์ 5 จะไม่กลับมาเกิดบนโลกมนุษย์อีก แม้สวรรค์หรือพรหมโลกก็ไม่ต้องการ ปรารถนานิพพานที่เดียว ให้เอานิพพานเป็นเป้าหมาย ตายไปจะต้องไปนิพพานที่เดียว

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น